ผู้สมัครงาน
จากเรื่องราวแสนประทับใจของหนึ่งในผู้ถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาท ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 เรียงร้อยเป็น 9 เรื่องเล่าที่ยังคงติดตรึงอยู่ในหัวใจของชายมุสลิมวัย 72 ปี หรือ ว่าที่ร้อยโทดิลก ศิริวัลลภ ล่ามภาษามลายูประจำพระองค์ ผู้ที่ถวายงานแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาเนิ่นนานถึง 42 ปี
ว่าที่ร้อยโทดิลก ศิริวัลลภ ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านน้ำเสียงแห่งความตื้นตัน ราวกับเพิ่งถวายงานให้แก่พระราชาและพระราชินีเสร็จสิ้นมาหมาดๆ ซึ่งเรื่องราวที่ผู้อ่านจะได้ยลยินนับจากนี้ คือ 9 เหตุการณ์ที่ถูกกลั่นกรองจากหัวใจของ “ล่ามมลายู ประจำพระองค์” ผู้มอบทั้งกายและหัวใจให้แด่พระเจ้าแผ่นดินและพระราชินีอันเป็นที่รัก
ว่าที่ร้อยโทดิลก ศิริวัลลภ ล่ามภาษามลายูประจำพระองค์
เรื่องที่ 1 : ขอนายอำเภอก่อน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จแปรพระราชฐานประทับ ณ ตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ พร้อมทั้งเสด็จเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่บ่อยครั้ง แต่เมื่อทั้งสองพระองค์ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับประชาชนที่มารอรับเสด็จ กลับไม่สามารถสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจตรงกันได้ เนื่องชาวไทยมุสลิมใช้ภาษามลายูเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงรับสั่งให้นายอำเภอรือเสาะสรรหาล่ามในพื้นที่ที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งในสมัยนั้น คุณดิลก กำลังรับราชการครู และเป็นผู้เดียวใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่เรียนจบการศึกษาชั้นปริญญาตรี ทั้งยังเป็นผู้มีคุณธรรม และจิตใจดี จึงได้รับเลือกให้เป็น “ล่ามประจำพระองค์” ในที่สุด
ว่าที่ร้อยโทดิลก เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างภาคภูมิว่า “วันหนึ่งหลังจากเยี่ยมประชาชนเสร็จแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ รับสั่งกับผมว่า คุณดิลก ฉันจะชวนเธอไปเป็นล่ามให้กับพระเจ้าอยู่หัว และกับฉัน โดยตามไปที่อื่นๆ ด้วย อย่างนี้จะได้ไหม ผมก็บอกว่าได้พระพุทธเจ้าข้า แต่ต้องขอนายอำเภอก่อน”
เมื่อครูดิลก กราบทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯ ไปเช่นนั้น พระองค์ทรงนิ่ง จึงทำให้ครูดิลกตกใจมาก เกรงว่าตนเองจะเผลอไผลพูดอะไรผิดไป แต่มิได้เป็นอย่างที่ครูดิลกคิด สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงรอพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับจากเยี่ยมเยียนประชาชน เพื่อทูลแจ้งเรื่องชักชวนครูดิลกไปเป็นล่ามมลายูประจำพระองค์
“พอพระเจ้าอยู่หัว มาถึง สมเด็จพระนางเจ้าฯ ก็ทูลพระเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัว จึงเรียกหานายอำเภอ ไม่นานนักนายอำเภอก็วิ่งมา พร้อมทำหน้าตระหนกตกใจ มือไม้สั่น เพราะนึกว่าทำอะไรผิดเข้าแล้ว แต่พระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งกับนายอำเภอว่า เราจะขอคุณดิลกไปเป็นล่าม ตามเราไปที่อื่นด้วย คุณดิลกเต็มใจจะไป แต่คุณดิลกบอกให้เราขออนุญาตนายอำเภอก่อน นายอำเภอจะอนุญาตไหม นายอำเภอตอบเสียงดังลั่นว่า อนุญาตพระพุทธเจ้าข้า”ว่าที่ร้อยโทดิลก จำเหตุการณ์ครั้งเก่าก่อนได้ดี
ว่าที่ร้อยโทดิลก ยอมรับว่า ภายหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ตนกลับมานั่งทบทวนกับตัวเองว่า เหตุใดจะต้องขออนุญาตจากนายอำเภอ เพราะบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้าล้นแผ่นดินอยู่แล้ว จึงทำให้ตนเกรงว่าจะถูกตำหนิ แต่ผู้ใหญ่หลายท่านกลับชื่นชมว่า ครูดิลก เป็นข้าราชการที่ดี เพราะปฏิบัติตามขั้นตอนทุกอย่าง
ว่าที่ร้อยโทดิลก เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างภาคภูมิ
เรื่องที่ 2 : กังวลใช้คำราชาศัพท์
ว่าที่ร้อยโทดิลก ยังจดจำครั้งแรกที่เข้าไปถวายงานแด่ พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ ได้ดี พร้อมเล่าให้ทีมข่าวฟังอย่างแช่มชื่นใจว่า ครั้งแรกๆ ที่มีโอกาสได้เข้าไปถวายนั้น ตนใช้คำราชาศัพท์ได้เพียงไม่กี่คำเท่านั้น อย่างเช่น คำว่า “กระผม”ในคำราชาศัพท์จะใช้ว่า ข้าพระพุทธเจ้า ส่วนคำว่า “ครับ” ในคำราชาศัพท์จะใช้ว่า พระพุทธเจ้าข้า
ก่อนถึงวันถวายงานครั้งแรก ว่าที่ร้อยโทดิลก เตรียมท่องคำราชาศัพท์ต่างๆ อยู่หลายวันหลายคืน จนเกิดอาการตื่นเต้น และประหม่าอย่างหนัก แต่ผู้ติดตามของพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ ได้แนะนำว่า อย่าไปกังวลมากนัก เพราะทั้งสองพระองค์ทรงมีพระเมตตา ซึ่งต่อมา ว่าที่ร้อยโทดิลกก็คลายความกังวล และสามารถปฏิบัติงานได้ดีขึ้น
“จริงๆ แล้วพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ ท่านไม่ได้ซีเรียสกับการใช้คำราชาศัพท์ และท่านยังมีความเป็นกันเองแก่ประชาชนอย่างมาก ซึ่งจุดนี้นับว่าเป็นแรงบันดาลใจในการครองตนของผมตลอดมา” ว่าที่ร้อยโทดิลก นำหลักการปฏิบัติตนของพระราชามาใช้เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตของตัวเอง
ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ ได้รับสั่งกับคุณดิลกอย่างเป็นกันเองว่า “งานราชการเธอเกษียณได้ แต่งานของฉัน ฉันไม่ให้เกษียณ เธอจะต้องช่วยฉันทำงานต่อไป เมื่อเกษียณแล้วเธอไม่ต้องกลัวว่าจะเหงาหรือจะเฉาเสียก่อน เธอต้องทำงานกับฉันต่อไปนะ” ประโยคสำคัญที่ ว่าที่ร้อยโทดิลก จะจดจำไปจวบจนสิ้นลมหายใจ
ปัจจุบัน ว่าที่ร้อยโทดิลก ได้ถวายงานสมเด็จพระนางเจ้าฯ เรื่อยมาจวบจนทุกวันนี้ โดยรับหน้าที่เป็นทั้ง ล่ามประจำพระองค์ และเป็นผู้ดูแลสมาชิกศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ว่าที่ร้อยโทดิลก ศิริวัลลภ จดจำทุกวินาทีแห่งความภูมิใจ
เรื่องที่ 3 : เรารักพระเจ้าอยู่หัวของเรา
ว่าที่ร้อยโทดิลก ย้อนเล่าไปเมื่อครั้งที่พระเจ้าอยู่หัว เสด็จเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้เป็นครั้งแรกๆ ว่า เมื่อก่อนชาวบ้านจะเรียก พระเจ้าอยู่หัว ว่า “รายอสีแย”โดย “รายอ” นั้นหมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน พระมหากษัตริย์หรือในหลวง ส่วนคำว่า“สีแย” นั้นหมายถึง สยาม หากรวมกันแล้วจะมีความหมายว่า พระเจ้าแผ่นดินสยาม
ท่ามกลางวิกฤติปัญหาชีวิตของชาวใต้ อาทิ ปัญหาดินพรุ หรือดินที่ไม่สามารถเพาะปลูกใดๆ ได้ พระเจ้าอยู่หัวทรงแก้ปัญหา จนทำให้ดินสามารถเพาะปลูกทางการเกษตรได้
ปัญหาประชาชนไร้อาชีพ สมเด็จพระนางเจ้าฯ จัดตั้งโครงการศิลปาชีพ สร้างอาชีพให้แก่หญิงมุสลิมจนประกอบสัมมาอาชีพ และมีรายได้จุนเจือครอบครัว
ในกรณีที่มีชาวบ้านเจ็บไข้ได้ป่วย ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระเมตตา ห่วงใยประชาชนทุกหมู่เหล่า โดยพระราชทาน “หมอหลวง” มาดูแลรักษาชาวบ้านจนร่างกายแข็งแรง ซึ่งประชาชนชาวใต้ ถึงกับขนานนามหมอหลวงว่า “หมอเทวดา” เพราะไม่ว่าจะรักษาโรคภัยใดๆ ก็สามารถรักษาให้หายได้เป็นปลิดทิ้ง
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของทั้งสองพระองค์ ที่มีต่อประชาชนปลายด้ามขวานอย่างเท่าเทียมกัน และไม่คำนึงถึงความแตกต่างของศาสนาแต่อย่างใด จึงทำให้ประชาชนเกิดความรักและเทิดทูนพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ อย่างมาก ซึ่งพิสูจน์ได้จากการเปลี่ยนชื่อเรียกทั้งสองพระองค์
ว่าที่ร้อยโทดิลก อธิบายถึงภาษามลายูว่า “ชาวไทยมุสลิมในชายแดนใต้ เปลี่ยนการเรียกชื่อในหลวงจาก “รายอสีแย” ที่แปลว่า พระเจ้าแผ่นดินสยาม เป็น “รายอกีตอ” แปลว่า พระเจ้าอยู่หัวในดวงใจของเรา”
ติดตามเรื่องเล่าสุดแสนประทับใจของ “ล่ามประจำพระองค์” ในตอนที่ 4 ถึง 9 ได้ที่นี่กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ที่นี่เร็วๆ นี้
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved